"การจะให้ราษฎรที่ยากจน
ที่มีปัญหาเรื่องฟัน หยุดการทำนา ทำไร่ เดินทางไปหาหมอนั้น เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง ในทางตรงกันข้าม
หากเป็นการให้บริการเคลื่อนที่ไปสู่ประชาชน ก็จะเป็นการแก้ปัญหาได้ทางหนึ่ง"


พระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้ง
"หน่วยทันตกรรมพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"
ประวัติความเป็นมา

   

          ตลอดระยะเวลา ๙ ปี นับตั้งแต่ปี ๒๕๑๓ – ๒๕๒๑ ศาสตราจารย์ พันโท สี สิริสิงห ผู้อำนวยการหน่วยทันตกรรมพระราชทานฯ

ได้นำทันตแพทย์ออกให้บริการทันตกรรมแก่ประชาชนรวม ๑๐๗,๙๐๓ ราย ในพื้นที่ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี

ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา พิจิตร อ่างทอง และสระบุรี 

  เมื่อศาสตราจารย์ พันโท สี สิริสิงห ถึงแก่อนิจกรรม ศาสตราจารย์พิเศษ ทันตแพทย์หญิง ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช

ได้เป็นผู้อำนวยการหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ปฏิบัติหน้าที่ต่อเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

 

โดยระยะแรกมีทันตแพทย์อาสาสมัครจากคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คอยผลัดเปลี่ยนกันทุกสัปดาห์ จำนวน ๒ คน

และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในท้องถิ่นนั้น ๆ เป็นผู้ให้บริการรักษาและให้ความรู้ด้านทันตสุขภาพ ในเวลาต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งหน่วยทันตกรรมพระราชทานขึ้นในส่วนภูมิภาคต่าง ๆ รวมปัจจุบันมี

มหาวิทยาลัยในสังกัดของหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๗ มหาวิทยาลัย และ ๑ โรงพยาบาล ได้แก่

คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 

 คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร 

คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 • คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 

 โรงพยาบาลมหาราช จังหวัดนครราชสีมา

โดยมีกำหนดการออกให้บริการทันตกรรมในจังหวัดต่าง ๆ เป็นประจำโดยเฉลี่ยเดือนละ ๑ ครั้ง และในทุกปีจะร่วมกันออกให้บริการ หน่วยทันตกรรม

เคลื่อนที่ใหญ่ในถิ่นทุรกันดาร อย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง ครั้งละ ๑ สัปดาห์

 

ปัจจุบัน มีทันตแพทย์อาสาสมัครและบุคลากรสายสนับสนุน เข้าร่วมงานกับหน่วยทันตกรรมพระราชทานครั้งละประมาณ ๑๐๐ – ๑๕๐ ราย

และมีทันตแพทย์ชาวต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จีน เยอรมัน ให้ความสนใจเข้าร่วม เป็นอาสาสมัครด้วย โดยสามารถให้บริการรักษาแก่ประชาชน

ได้ประมาณวันละ ๑,๕๐๐ – ๑,๘๐๐ ราย

 

ปัจจุบันหน่วยทันตกรรมพระราชทานฯ สามารถให้บริการตรวจฟัน วินิจฉัยด้วยภาพรังสี ถอนฟัน ผ่าตัดฟันคุด ขูดหินปูน อุดฟัน รักษาคลองรากฟัน

ใส่ฟันเทียมบางส่วนชนิดถอดได้ ใส่ฟันเทียมทั้งปาก และให้ความรู้ด้านทันตสุขศึกษาได้ทั้งหมดภายในหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ ประเภทของการ

รักษานั้นสามารถให้บริการแก่ราษฎรได้อย่างครบวงจรและมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับรักษาที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ จนนำมาสู่การขนานนามว่า เป็น

                                              "หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ที่ใหญ่ที่สุด"

 

ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้หน่วยทันตกรรมพระราชทานฯ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องก็คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

บรมนาถบพิตร ทรงติดตามการดำเนินงานและพระราชทานคำแนะนำอยู่เสมอ ดั่งพระราชกระแสความว่า...

"ทันตแพทย์อย่าดูแต่เรื่องฟันอย่างเดียว ให้ดูเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น สังเกตขาเจ็บ ตาบวม เจ็บคอ ฯลฯ เพราะ

ทันตแพทย์ก็เป็นแพทย์เหมือนกัน เรียนมาเหมือนกัน ถ้ารักษาได้ก็ควรให้การรักษา ถ้ารักษาไม่ได้ควรให้คำแนะนำ

ส่งต่อไปรักษา ราษฎรจะได้รับการดูแลแต่เนิ่น ๆ และต้องซักถาม ทุกข์ สุข เรื่องการทำมาหากิน ถนนหนทาง น้ำท่า

เพราะถ้าน้ำไม่มี จะให้แปรงฟันวันละ ๒ ครั้ง ได้อย่างไร ถนนไม่ดี จะให้มาพบหมอปีละ ๒ ครั้ง ได้อย่างไร"

 

 

ในหลวงกับงานทันตกรรม

โดย ศ.(พิเศษ) ทญ. ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช

          ดิฉันขอขอบพระคุณท่านอธิบดีและกรมอนามัยที่ให้ความสนใจกับวิชาชีพทันตแพทย์ และให้เกียรติดิฉันมาบรรยายเรื่อง "ในหลวงกับงานทันตกรรม" ดิฉันได้มีโอกาสรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 นับเป็นเวลารวม 35 ปีแล้ว จึงได้รับทราบถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านทรงมีต่อวิชาชีทันตแพทย์และงานทันตกรรม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีโครงการตามพระราชดำริที่เป็นงานทันตกรรมอยู่หลายโครงการ

     

        

           ปัจจุบันมีผู้สูงอายุจำนวนมากต้องการใส่ฟันเทียมแต่ยังไม่ได้รับการดูแล ทั้งนี้เพราะทันตบุคลากรมีน้อย การใส่ฟันต้องใช้เทคโนโลยีเฉพาะ จากการได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ ท่านทรงเล่าว่า วันหนึ่งเสด็จฯเยี่ยมราษฎรที่จังหวัดขอนแก่น มีราษฎรคนหนึ่งเป็นผู้สูงอายุ ร่างกายซูบผอม ไม่สบาย พระองค์จึงมีพระราชกระแสรับสั่งถาม "เป็นอะไร ไม่สบายหรือ?" ราษฎรผู้นั้นกราบบังคมทูลว่า "ไม่สบาย ฟันไม่มี กินอะไรไม่ได้" พระองค์จึงมีพระราชดำรัสว่า "ไปใส่ฟันซะ แล้วจะเคี้ยวอะไรได้ ร่างกายจะได้แข็งแรง"
           ในปีต่อมาเมื่อพระองค์ท่านเสด็จเยี่ยมราษฎรที่จังหวัดขอนแก่นอีกครั้ง ราษฎรผู้นั้นได้มาเข้าเฝ้าฯ และกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า "ไปใส่ฟันมาแล้วตามที่ในหลวงแนะนำ ตอนนี้..กินอะไรได้ สบายแล้ว" เมื่อได้ฟังทำให้คิดว่าเรื่องการใส่ฟันเป็นเรื่องสำคัญ ด้วยเหตุนี้หน่วยทันตกรรมพระราชทานจึงสนองพระราชดำรัส ทำให้มีการใส่ฟันให้กับราษฎรที่ยากไร้และด้อยโอกาสในหน่วยเคลื่อนที่นั้น ดิฉันรู้สึกดีใจเป็นอันมากเมื่อทราบว่ากรมอนามัยและกระทรวงสาธารณสุข จะจัดทำโครงการฟื้นฟูสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุ และใส่ฟันเทียมจำนวน 80,000 ราย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 80 พรรษา ในปี 2550

           ระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระเมตตาให้อาสาสมัครในหน่วยทันตกรรมพระราชทานได้เฝ้าฯ เสมอเมื่อมีโอกาสพระองค์ท่านจะทรง เน้นในเรื่อง 2 เรื่อง คือ

           1. สถานที่ปฏิบัติงาน ควรเป็นที่ห่างไกลความเจริญที่ไม่มีทันตแพทย์ หรือมีทันตแพทย์ไม่เพียงพอ และควรให้โอกาสผู้ที่ยากไร้และด้อยโอกาสก่อน ทั้งนี้ท่านคงหมายถึงความเสมอภาค คนจน คนรวย ควรได้รับการดูแลเท่าเทียมกัน และทรงรับสั่งฝากว่า เวลาจะออกหน่วยฯ ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่บ้านเมือง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือสาธารณสุขจังหวัดได้ทราบ เพื่อแจ้งให้ราษฎรที่มีปัญหาได้ทราบ จะได้เข้ามารับการรักษา ซึ่งหมายถึงการคุ้มทุน มีทันตแพทย์ไปให้บริการครั้งละหลายคนแต่มีราษฎรมารับการรักษาเพียงไม่กี่คน ทำให้เสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย รวมทั้งเมื่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมารับทราบว่าราษฎรของเขามีปัญหา มีความต้องการ เมื่อเห็นเป็นสิ่งที่ดีจะได้ปฏิบัติตาม หน่วยทันตกรรมพระราชทานเหมือนเป็น Pilot Project ให้

           2. เมื่อออกหน่วยฯอย่าได้ไปรบกวนเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ไม่ต้องให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองมาต้อนรับเลี้ยงดู เพราะเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติมากอยู่แล้ว ให้อาสาสมัครหารับประทานเอง ฉะนั้นเวลาออกหน่วยจึงขอเป็นอาหารกล่องเป็นส่วนใหญ่ การออกหน่วยฯขณะนั้นเน้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะราษฎรมีจำนวนมากเมื่อเทียบกับจำนวนทันตแพทย์ การออกปฏิบัติงานทันตแพทย์ส่วนหนึ่ง ต้องออกปฏิบัติงานตั้งแต่ตี 5 เพื่อไปจัดเตรียมเครื่องมือ และทันตแพทย์ส่วนใหญ่จะเริ่มปฏิบัติงานประมาณ 8.30 น. จนถึงประมาณ 5-6 โมงเย็น การปฏิบัติงานเครื่องมือต้องมีเป็นจำนวนมาก เรื่องความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เครื่องมือทุกชิ้นต้องปราศจากเชื้อ ฉะนั้นในเรื่องนี้ต้องมีทันตแพทย์ และเจ้าหน้าที่ควบคุมเป็นพิเศษ ก่อนกลับเข้าที่พักแทบทุกวันอาสาสมัครจะได้มีโอกาสทัศนศึกษา หรือกราบนมัสการพระเกจิอาจารย์ ทั้งหลาย

       

          โครงการทันตกรรมพระราชทานที่กล่าวมาแล้ว เป็นเพียงโครงการในพระราชดำริโครงการหนึ่ง ยังมีโครงการในพระราชดำริอีก 3 โครงการ คือ
              1. โครงการตามเสด็จ เวลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นที่ห่างไกลความเจริญจะมีทันตแพทย์ตามเสด็จ ถ้าพบราษฎรมีปัญหาเกี่ยวกับฟันหรือสุขภาพในช่องปากจะได้ให้บริการได้ทันที
              2. โครงการทันตกรรมทางเรือ ได้พระราชทานเรือเวชพาหน์ ให้สภากาชาดออกให้บริการทางการแพทย์และทางทันตกรรม ดูแลราษฎรที่อาศัยอยู่ตามสองฝั่งคลอง เนื่องจากการคมนาคมทางบกไม่สะดวก
              3. โครงการทันตกรรมหน้าวัง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ แปรพระราชฐานที่พระราชวังไกลกังวลหัวหิน พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ หรือ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จะมีรถทำฟันเคลื่อนที่ของกองทัพบกให้บริการแก่ ราษฎรบริเวณหน้าพระราชวังที่ประทับแทบทุกวัน

           
           ทุกครั้งที่ทันตแพทย์อาสาสมัคร มีโอกาสเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านจะทรงพระเมตตาพระราชทานพระบรมราโชวาท คำแนะนำ และความห่วงใยเสมอมา ดิฉันใคร่ขออัญเชิญ คำแนะนำ คำสั่งสอนเหล่านั้นมาเล่าให้ฟังบางเรื่อง
                 1. ทรงสอนเรื่องการรักษาแบบองค์รวม ก่อนที่เราท่านทั้งหลายที่อยู่ด้านการแพทย์จะเข้าใจ คือ เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสอนว่าเวลาออกหน่วยฯ อย่าดูแต่เรื่องฟันอย่าง เดียว ให้ดูเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น สังเกต ขาเจ็บ ตาบวม เจ็บคอ ฯลฯ เพราะทันตแพทย์ก็เป็นแพทย์เหมือนกัน เรียนมาเหมือนกัน ถ้ารักษาได้ก็ควรให้การรักษา ถ้ารักษาไม่ได้ควรให้คำแนะนำส่งต่อไปรักษา ราษฎรจะได้รับการดูแลแต่เนิ่นๆ และต้องซักถามทุกข์สุข เรื่องการทำมาหากิน ถนนหนทาง น้ำท่า เพราะถ้าน้ำไม่มีจะให้แปรงฟันวันละ 2 ครั้งได้อย่างไร ถนนไม่ดีจะให้มาพบหมอปีละ 2 ครั้งได้อย่างไร ปัจจุบันนี้เราเน้นเรื่องการ รักษาแบบ Holistic care คือ ไม่รักษาเฉพาะกายอย่างเดียว ต้องดูถึงจิตใจ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และจิตวิญญาณด้วย

                 2. ทรงพระราชทานคำแนะนำว่า การศึกษาและการวิจัยเป็นเรื่องสำคัญ ทันตแพทย์ควรมีหลากหลาย ไม่ใช่สนใจรักษาแต่อย่างเดียว แต่ต้องสนใจงานวิจัย รวมทั้งงานประดิษฐ์คิดค้นวัสดุอุปกรณ์ ต่างๆ ด้วยเหตุนี้เมื่อหลายปีที่ผ่านมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานภาพยนตร์ส่วนพระองค์ ให้ฉายเพื่อหารายได้มาสมทบกับงบประมาณแผ่นดิน สร้างตึกในคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย และพระราชทานนามว่า "ตึกทันตรักษ์วิจัย" เสด็จฯ วางศิลาฤกษ์ และเปิดตึกด้วยพระองค์เอง พร้อมกับมีพระราชดำรัสว่าการวิจัยเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อทันตแพทย์กรมอนามัยต้องการทำการวิจัยในการทดลองเติมฟลูออไรด์ในนม พระองค์ท่านทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้โรงนมสวนจิตรลดาเป็นแหล่งทดลอง

                 3. ทางด้านการศึกษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานทุน "มูลนิธิอานันทมหิดล ให้แผนกทันตแพทยศาสตร์" เมื่อ พ.ศ. 2535 เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯทำพระทนต์ ที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณบดีและคณะกรรมการในองค์กรผู้บริหารคณะ ทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยได้มีโอกาสเฝ้าฯ ด้วยในวันนั้น เมื่อพระองค์ท่านได้ทรงทราบว่าแผนกทันตแพทยศาสตร์ยังไม่เคยได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดลเหมือนแผนกอื่นๆ พระองค์ท่านทรงมี พระราชดำรัสว่า "ทันตแพทย์มีความสำคัญ มีประโยชน์ต่อสังคมควรได้รับทุน” และทรงกำชับว่า “เวลา คัดเลือกอย่าเลือกแต่คนเก่งอย่างเดียว คัดเลือกคนดีด้วย"  นักเรียนทุนทุกคนก่อนที่จะไป ต้องเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายบังคมลา และเวลาจบการศึกษาต้องเข้าเฝ้าฯ เพื่อกราบบังคมทูลรายงานผลการศึกษาทุกคน มีเรื่องเล่าเพิ่มเติมเกี่ยวกับนักเรียนทุนอานันทมหิดล 

           รางวัลสิ่งประดิษฐ์ การออกหน่วยทันตกรรมพระราชทานในสมัยแรกๆ จะให้บริการเฉพาะถอนฟันและให้ความรู้เท่านั้น ต่อมาภายหลังมีผู้นำเครื่องกรอฟันสนามขององค์การอนามัยโลก (WHO) มา น้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้ในหน่วยทันตกรรมพระราชทาน แต่ออกใช้งานได้ไม่กี่ครั้งเครื่องก็ไม่ทำงาน อาจเป็นเพราะความไม่เหมาะสมด้านการเคลื่อนย้าย และสภาพแวดล้อม จึงได้นำความกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัสตอบว่า "เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำไมไม่คิดค้นเครื่องมือเครื่องใช้ขึ้นเองให้เหมาะกับสภาพบ้านเมืองของเรา"  ในที่สุดทันตแพทย์ในหน่วยฯ ได้ร่วมกัน ประดิษฐ์ คิดค้น ศึกษาวิจัย ทดลอง จนสามารถคิดค้นเก้าอี้ทำฟัน อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้การออกหน่วยแทบทุกชนิดขึ้นใช้เอง มีน้ำหนักเบา ขนย้ายได้สะดวก มีราคาถูก เหมาะกับสภาพบ้านเมืองไทย และเมื่อทำใช้สำเร็จได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ

      

           พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำรัสว่า "ทำได้เช่นนี้ ควรนำไปประกวดสิ่งประดิษฐ์ที่สภาวิจัยแห่งชาติ ถ้าได้รับรางวัลจะได้ไปขายให้ประเทศเพื่อนบ้านที่มีสภาพบ้านเมืองคล้ายกับเรา" เมื่อนำไปประกวดตามที่พระองค์ท่านทรงพระราชทานคำแนะนำและได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์ จึงได้นำรางวัลและเกียรติบัตรทูลเกล้าฯ ถวาย พระองค์ท่านทรงเก็บเอาไว้แต่ใบเกียรติบัตร แล้วพระราชทานรางวัลกลับคืนมา พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพอพระราชหฤทัยที่ทันตแพทย์รู้จักที่จะพึ่งพาตนเอง ลดการนำเข้า และผลิตเพื่อการส่งออก

           เดือนตุลาคม พ.ศ. 2546 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานรถใส่ฟัน เคลื่อนที่ ซึ่งเป็นรถใส่ฟันเคลื่อนที่คันแรกในประเทศไทย ให้หน่วยทันตกรรมฯ ไปใช้ บัดนี้รถทำฟันเคลื่อนที่ คันนี้ได้ให้บริการการใส่ฟันแก่ราษฎรผู้ยากไร้และด้อยโอกาสได้มีฟันไว้ใช้บดเคี้ยวอาหารเพื่อร่างกายแข็งแรง มาหลายครั้งแล้ว

   

           เมื่อครั้งที่วิชาชีพทันตแพทย์มีอายุครบ 50 ปี คณะกรรมการได้จัดสร้างพระประจำวิชาชีพทันตแพทย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานส่วนพระทนต์ แบบหล่อพระทนต์ ผงจิตรลดา และพระปรมาภิไธย ย่อ ภปร. มาประดิษฐาน และเป็นมวลสารในองค์พระพุทธชินสีห์ ภปร. ที่จัดสร้างขึ้น และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ มาทรงเททองด้วยพระองค์เอง โดยมีสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นประธานฝ่ายสงฆ์

 

           ภาพนี้เป็นภาพหลอดยาสีฟัน หรือหลอดยาสีพระทนต์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ดิฉันนำมาเล่าเพื่อให้เห็นถึงพระราชจริยวัตร ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงประหยัด วันหนึ่งหลังจากรักษา พระทนต์ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการประหยัด ดิฉันได้กราบบังคมทูลถึงนิสิตนักศึกษาว่าเดี๋ยวนี้ไม่ ประหยัดชอบใช้ของ Brand name ไม่มีเงินซื้อก็เช่ามาใช้ ไม่เหมือนสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ท่านทรงถือกระเป๋าราคาถูก ใช้ของถูกๆ ไม่ต้องมียี่ห้อและกราบบังคมทูลว่าเคยเห็นหลอดยาสีพระทนต์ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ท่านทรงใช้จนหมดหลอดแบนราบ พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำรัสว่าของพระองค์ท่านก็มี และทรงเล่าว่า "วันหนึ่งมหาดเล็ก ห้องสรงนึกว่ายาสีฟันหมดแล้วนำไปทิ้งและนำหลอดใหม่มาถวาย ท่านทรงเรียกให้เอามาคืน และยังทรงใช้ต่อได้อีก 5 วัน" ดิฉันจึงขอพระราชทานมาให้ลูกศิษย์ และคณาจารย์ และทันตแพทย์ได้ดูเป็นตัวอย่างแห่งความประหยัด

           คุณวิลาส มณีวัต ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับพระอารมณ์ขันของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดิฉันมีเรื่องพระอารมณ์ขันที่รับทราบมาหลายเรื่อง แต่ขออัญเชิญมาเล่าเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับทันตแพทย์โดยตรง สัก 2 เรื่อง วันหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ เยี่ยมราษฎร และเสด็จทอดพระเนตรโรงงานเครื่องปั้นดินเผา พระองค์ท่านทอดพระเนตรเห็นกบเอามือกุมคางเหมือนปวดฟันจึงให้มหาดเล็กซื้อมา และเมื่อถึงที่ประทับ พระองค์ท่านได้มีวิทยุถึงทันตแพทย์ที่ตามเสด็จว่า "จะส่งคนไข้ไปให้รักษา" ทันตแพทย์ผู้นั้นก็รอด้วยใจระทึกว่าคนไข้จะเป็นใคร คงมีความสำคัญมาก ถึงขนาดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฝากฝังด้วยพระองค์เอง ในที่สุดก็ได้รับทราบว่าเป็นกบที่กำลังปวดฟันอยู่
           พระอารมณ์ขันอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อครั้งที่ทันตแพทย์อาสาสมัครในหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ได้เฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชวังไกลกังวล หลังจากออกปฏิบัติงานที่ตำบลป่าเด็ง อำเภอหัวหิน ดิฉันได้กราบบังคมทูลว่า วันนี้ขณะออกหน่วยฯ มีเด็กชายอายุ 10 ขวบ มาถอนฟัน พอนั่งเก้าอี้ทำฟัน เขาพูดว่าหมออย่าทำเจ็บนะผมเป็นลูกกำนันนะ พระองค์ท่านมีพระราชกระแสรับสั่งถามว่า "แล้วทำเขาเจ็บ หรือเปล่า" ต่อมาท่านมีพระราชกระแสรับสั่งเรื่องอื่นๆ ไปอีกนานจนในที่สุดท่านมีพระราชดำรัสว่า "นานแล้ว คุณหมอผู้ถวายการรักษาได้มารักษาคลองรากฟัน ทำแล้วท่านยังทรงปวดอยู่” แต่หมอท่านนั้นก็ยืนยันว่า เอาพระประสาทออกหมดแล้วไม่น่าจะทรงปวด ในที่สุดก็แยงไปแยงมาดึงประสาทเส้นหนึ่งขึ้นมา พระองค์ท่านทรงทำพระหัตถ์ประกอบ และมีพระราชดำรัสว่า "ความจริงเราเจ็บมากนะ แต่เราไม่กล้าร้อง ไม่กล้าพูด เพราะเราไม่ใช่ลูกกำนัน" ทำให้ทันตแพทย์ที่เฝ้าฯ ทุกคนต้องหัวเราะและรับทราบถึงพระอารมณ์ขันของพระองค์ท่าน


           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐ ผู้บริสุทธิ์ ปราศจาอคติ เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา มากล้นด้วยความห่วงใยต่อวิชาชีพ ประชาชน และประเทศชาติ สมควรที่เราทั้งหลายจะน้อมนำพระราชจริยวัตรอันงดงามมาปฏิบัติตามรอยพระยุคลบาท เพื่อประโยชน์ต่อตนเอง ต่อสังคม และต่อประเทศชาติในที่สุด

ศ.(พิเศษ) ทญ. ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช
มีนาคม 2548                         

พระมหากรุณาธิคุณด้านการศึกษา และการวิจัยทางทันตแพทยศาสตร์

         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระเมตตาธิคุณพระราชทานบรมราชานุเคราะห์สนับสนุนกิจการด้านทันตสาธารณสุขมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่าสี่สิบปี ดังจะเห็นได้จากการดำเนินงานของ “หน่วยทันตกรรมพระราชทาน” ที่ทรงริเริ่มจัดตั้ง ทรงวางแผนและติดตามผลการดำเนินงานด้วยพระองค์เอง ทรงเล็งเห็นความสำคัญของงานทันตสุขภาพว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานเบื้องต้นของการมีสุขภาพที่ดี โดยทรงพระราชทานพระราชดำริและข้อแนะนำแก่ทันตแพทย์ที่ถวายการรักษาเสมอมา ไม่เพียงแต่งานด้านทันตบริการเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงส่งเสริมการศึกษาวิจัยทางทันตแพทยศาสตร์ การพัฒนาด้านวิชาการ และทรงมีพระบรมราชูปถัมภ์แก่งานอันเกี่ยวเนื่องกับกิจการทันตกรรมด้วย

 

     

 การศึกษาและการวิจัยทางทันตแพทยศาสตร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานคำแนะนำอันทรงคุณประโยชน์ยิ่งต่อวิชาชีพทันตแพทย์ว่า “การศึกษาและการวิจัยเป็นเรื่องสำคัญ ทันตแพทย์ควรมีหลากหลาย ไม่ใช่สนใจรักษาแต่อย่างเดียว แต่ต้องสนใจงานวิจัย รวมทั้งงานประดิษฐ์คิดค้นวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ” ด้วยทรงพระปรีชาสามารถรอบรู้ในงานทันตกรรมและวิชาชีพทันตแพทย์ ประกอบกับทรงมีพระราชวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการวิจัยพัฒนา เพราะการวิจัยพัฒนานั้นเป็นเครื่องมือในการได้มาซึ่งองค์ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันดูแลรักษาสุขภาพช่องปาก จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน) จัดฉายภาพยนต์ส่วนพระองค์ เพื่อรวบรวมรายได้จากผู้มีจิตศรัทธาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายโดยเสด็จพระราชกุศลสมทบกับงบประมาณแผ่นดิน สร้างอาคารเรียนปฏิบัติการคลินิกและการวิจัยทางทันตแพทยศาสตร์ พร้อมพระราชทานนามอาคารว่า “ตึกทันตรักษ์วิจัย” และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประดิษฐานอักษรพระปรมาภิไธย “ภ.ป.ร.” ที่หน้าตึก เพื่อเป็นสิริมงคลต่อการศึกษาวิจัยทางทันตแพทยศาสตร์

         ด้านการประดิษฐ์คิดค้นวัสดุอุปกรณ์ทางทันตกรรมนั้น ทรงพระราชทานข้อแนะนำเน้นย้ำเรื่องการพึ่งพาตนเอง ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยการผลิตวัสดุ อุปกรณ์ ขึ้นใช้เองแก่ผู้เกี่ยวข้องอยู่เสมอ เช่นกรณีเมื่อครั้งมีผู้นำเครื่องกรอฟันสนามขององค์การอนามัยโลกมาน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเพื่อใช้ในหน่วยทันตกรรมพระราชทาน แต่เมื่อนำไปใช้เพียงไม่กี่ครั้งเครื่องก็หยุดทำงาน ทรงพระราชทานข้อแนะนำว่า “เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำไมไม่คิดค้นเครื่องมือเครื่องใช้ขึ้นเองให้เหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองของเรา” จากพระราชกระแสดังกล่าวนำไปสู่การศึกษาค้นคว้าวิจัยสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่ใช้ในการปฏิบัติงานของหน่วยทันตกรรมพระราชทานจนประสบผลสำเร็จได้ชุดอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับการลักษณะการใช้งาน

         ด้านการพัฒนาวิชาการทันตแพทยศาสตร์ศึกษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานทุนการศึกษา “มูลนิธิอานันทมหิดล แผนกทันตแพทยศาสตร์” เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงรับการถวายรักษาพระทนต์ที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา เพราะทรงตระหนักว่าทันตแพทย์เป็นสาขาวิชาชีพที่สำคัญสาขาหนึ่ง

          นอกจากพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงพระราชทานแก่วิชาชีพทันตแพทย์ตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2552 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดตั้งมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ขึ้นในหน่วยทันตกรรมพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ทำหน้าที่ศึกษาวิจัยพัฒนาด้านทันตกรรม โดยนำผลที่ได้จากการวิจัยพัฒนาไปประยุกต์ใช้ในการบริการรักษาและส่งเสริมอนามัยช่องปากให้กับประชาชนได้อย่างเหมาะสม ทั้งต่อสภาวการณ์ของโรคและลักษณะกายภาพของประชากร จึงนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมอีกวาระหนึ่งของงานทันตสาธารณสุขไทย ด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงเอื้ออาทรต่อพสกนิกร มุ่งหวังที่จะให้ราษฎรทุกหมู่เหล่ามีความเป็นอยู่ที่ดี ดังพระปฐมบรมราชโองการ

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

 
ค้นคว้า   •   ปฏิบัติ   •   พัฒนา
สถิติผู้เข้าชมทั้งหมด